วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552

มะโห่งหิน

มะโห่งหินชื่อวิทยาศาสตร์ : Castor Oil Plant, Castor Bean, Ricinus communis Linn.
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น : มะละหุ่ง, มะโห่ง, มะโห่งหิน, ละหุ่งแดง

รูปลักษณะ : มะโห่งหิน เป็นไม้พุ่ม สูง 1-4 เมตร ใบเดี่ยว รูปผ่ามือกว้างและยาว 15-30 ซม. ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด แยกเพศ อยู่ในช่อเดียวกัน ไม่มีกลีบดอก ผลแห้ง แตกได้ มี 3 พู เปลือกเมล็ดสีน้ำตาล มีหลายชนิด ขึ้นกับพันธุ์ละหุ่ง

สรรพคุณของ มะโห่งหิน : ใบ เป็นยาขับน้ำนม แก้ช้ำรั่ว (อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่)ราก สุมไฟให้เป็นถ่าน ใช้เป็นยาแก้พิษ แก้ไข้เซื่องซึม

ไทรกระเบื้อง

ไทรกระเบื้องชื่อวิทยาศาสตร์ : Ficus benjamina Linn.
ชื่อวงศ์ : MORACEAE
ชื่ออื่น : ไทร, ไทรกระเบื้อง, ไทรย้อย

รูปลักษณะ : ไทรกระเบื้อง เป็นไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 10 เมตร มีรากอากาศ น้ำยางขาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรี รูปใบหอกหรือรูปไข่แกมวงรี กว้าง 1.5-6 ซม. ยาว 3-12 ซม. ดอกช่อ เกิดภายในฐานรองดอก ที่มีรูปร่างกลมคล้ายผล ออกเป็นคู่ที่ซอกใบ แยกเพศอยู่ในช่อเดียวกัน ผลสด รูปกระสวย รูปไข่ รูปไข่กลับหรือรูปค่อนข้างกลม เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส้มและแดงเข้มตามลำดับ

สรรพคุณของ ไทรกระเบื้อง : ราก เป็นยาบำรุงน้ำนม รากอากาศขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ (โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ มีปัสสาวะขุ่นข้น เหลืองหรือแดง มักมีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้) ปัสสาวะพิการ (อาการปัสสาวะปวด หรือกะปริบกะปรอย หรือขุ่นข้น สีเหลืองเข้ม หรือมีเลือด) แก้กษัย (อาการป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม โลหิตจาง ปวดเมื่อย)

ลิ้นมังกร

ลิ้นมังกรชื่อวิทยาศาสตร์ : Sauropus changiana S.Y.Hu.
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE

รูปลักษณะ : ลิ้นมังกร เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงได้ถึง 40 ซม. ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกกลับแกมขอบขนาน กว้าง 4-7 ซม. ยาว 10-16 ซม. แผ่นใบมีลายสีขาว ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกตามโคนต้น ดอกย่อยแยกเพศ สีแดงเลือดนก

สรรพคุณของ ลิ้นมังกร : ใบ-ใช้ตำหรือขยี้ทาหรือพอก แก้พิษร้อนอักเสบ

ลิ้นงูเห่า

ลิ้นงูเห่าชื่อวิทยาศาสตร์ : Clinacanthus siamensis Berm.
ชื่อวงศ์ : ACANTHACEAE

รูปลักษณะ : ลิ้นงูเห่า เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง 1.5-4 เมตร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกหรือรูปใบหอกแกมขอบขนาน กว้าง 2.5-4 ซม. ยาว 7-12 ซม. ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีแดงส้ม โคนกลีบสีเขียว ติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 2 ปาก ผลแห้ง แตกได้

สรรพคุณของ ลิ้นงูเห่า : ใบ ใช้ตำหรือขยี้ ทาหรือพอก แก้พิษร้อนอักเสบ ปวดฝี รากตำพอกแก้พิษตะขาบและแมงป่อง

รางจืด

รางจืดชื่อวิทยาศาสตร์ : Thunbergia laurifolia Linn.
ชื่อวงศ์ : THUNBERGIACEAE
ชื่ออื่น : กำลังช้างเผือก, ขอบชะนาง, เครือเขาเขียว, ยาเขียว, คาย, รางเย็น, ดุเหว่า, ทิดพุด, น้ำนอง, ย่ำแย้, แอดแอ

รูปลักษณะ : รางจืด เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเดี่ยว รูปขอบขนานหรือรูปไข่ กว้าง 4-7 ซม. ยาว 8-14 ซม. ขอบใบเว้าเล็กน้อย ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีม่วงแกมน้ำเงิน ใบประดับสีเขียวประสีน้ำตาลแดง ผลแห้ง แตกได้

สรรพคุณของ รางจืด : ใบสด ใช้คั้นน้ำ แก้ไข้ ถอนพิษต่างๆ ในร่างกาย เช่น อาการแพ้อาหาร เป็นต้น การทดลองเพื่อใช้แก้พิษที่เกิดจากยาฆ่าแมลงโพลิดอลในสัตว์ ได้ผลดีพอควร สรุปได้ว่าอาจใช้น้ำคั้นใบสดให้ผู้ป่วยที่กินยาฆ่าแมลง ดื่มเป็นการปฐมพยาบาล ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้ แต่จะไม่ให้ผลในการกินเพื่อป้องกัน ก่อนสัมผัสยาฆ่าแมลง