วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aloe, Aloe vera Linn. varchinensis (Haw.) Berg
ชื่อวงศ์ : ALOACEAE
ชื่ออื่น : ว่านไฟไหม้, หางตะเข้

รูปลักษณะ : ว่านหางจระเข้ เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง 0.5-1 เมตร ข้อและปล้องสั้น ใบเดี่ยว เรียงรอบต้น กว้าง 5-12 ซม. ยาว 0.3-0.8 เมตร อวบน้ำมาก สีเขียวอ่อนหรือสีเขียวเข้ม ภายในมีวุ้นใส ใต้ผิวสีเขียวมีน้ำยางสีเหลือง ใบอ่อนมีประสีขาว ดอกช่อ ออกจากกลางต้น ดอกย่อย เป็นหลอดห้อยลง สีส้ม บานจากล่างขึ้นบน ผลแห้ง แตกได้

สรรพคุณของ ว่านหางจระเข้ : วุ้นสด ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง วิธีใช้ให้เลือกใช้ใบล่างสุดของต้นก่อน ล้างน้ำให้สะอาด ปอกเปลือกสีเขียวออกด้วยมีดสะอาด ล้างน้ำยางสีเหลืองออกให้หมด เพราะอาจระคายเคืองผิวหนัง และทำให้มีอาการแพ้ได้ ฝานเป็นแผ่นบางปิดแผล หรือขูดเอาวุ้นใสปิดพอกรักษาแผลสด แผลเรื้อรัง แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลไหม้เกรียมจากแสงแดด และการฉายรังสี อาจใช้ผ้าพันแผลที่สะอาดพันทับ เปลี่ยนวุ้นใหม่วันละครั้ง เช้า-เย็น จนกว่าแผลจะหาย ใช้วุ้นสดกินรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ดี และใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางหลายประเภท เช่น แชมพูสระผม สบู่ ครีมกันแดด เป็นต้น สารที่ออกฤทธิ์เป็นกลัยโคโปรตีน ชื่อ aloctin A ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ และเพิ่มการเจริญทดแทนของเนื้อเยื่อ บริเวณที่เป็นแผล แต่มีข้อเสีย คือ สลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกความร้อน ไม่ควรทิ้งวุ้นสดไว้เกิน 24 ชั่วโมง น้ำยางสีเหลืองจากใบ เคี่ยวให้แห้ง เรียกว่า ยาดำ เป็นยาระบายชนิดเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ใหญ่

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

มะขามแขก

มะขามแขกชื่อวิทยาศาสตร์ : Senna, Senna alexandrina P. Miller (Cassia angustifolia Vahl)
ชื่อวงศ์ : FABACEAE

รูปลักษณะ : มะขามแขก เป็นไม้พุ่ม สูง 0.5-1.5 เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปวงรีหรือรูปใบหอก กว้าง 1-1.5 ซม. ยาว 2.5-3.5 ซม. ดอกช่อ ออกที่ซอกใบตอนปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลือง B≫ผลเป็นฝักแบน รูปขอบขนาน

สรรพคุณของ มะขามแขก : ใบและฝักอ่อน ใช้เป็นยาระบาย โดยนำใบซึ่งเก็บก่อนมีดอก ตากแห้ง 3-10 กรัม หรือฝักแห้ง 4-5 ฝัก ชงน้ำร้อนทิ้งไว้ 10 นาที ดื่มก่อนนอน สารที่ออกฤทธิ์ระบาย คือ Sennosides A และ B อาการข้างเคียงที่พบคือ ปวดมวนท้อง ซึ่งมักเกิดจากใบมากกว่าฝัก แต่สามารถบรรเทาโดยใช้สมุนไพรขับลมผสมร่วมด้วย เช่น กระวาน การพลู เป็นต้น

มะขาม

มะขามชื่อวิทยาศาสตร์ : Tamarind, Tamarindus indica Linn.
ชื่อวงศ์ : FABACEAE

รูปลักษณะ : มะขาม เป็นไม้ยืนต้น สูง 15-25 เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง 5-8 ซม. ยาว 1-1.5 ซม. ดอกช่อ ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลือง มีลายสีม่วงแดง ผลเป็นฝัก มีเนื้อหุ้มเมล็ด สีน้ำตาล ฉ่ำน้ำ

สรรพคุณของ มะขาม : มะขามเปียก ใช้เป็นยาถ่าย และยาแก้ไอกัดเสมหะที่เหนียวข้น เนื่องจากมีกรดอินทรีย์ เช่น กรด Trataric และกรด Citric เปลือกต้น เป็นยาสมานคุมธาตุ เนื้อในเมล็ด ใช้เป็นยาฆ่าพยาธิไส้เดือน ใบและยอดอ่อน มีรสเปรี้ยว ใช้ในการอาบ อบสมุนไพร

บานบุรีเหลือง

บานบุรีเหลืองชื่อวิทยาศาสตร์ : Allamanda cathartica Linn.
ชื่อวงศ์ : APOCYNACEAE

รูปลักษณะ : บานบุรีเหลือง เป็นไม้พุ่มแกมเถา ทุกส่วนมีน้ำยางขาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามหรือเรียงรอบข้อๆ ละ 3-4 ใบ รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง 4-5 ซม. ยาว 8-15 ซม. ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลือง เชื่อมติดกันเป็นหลอด ผลกลม มีหนาม แตกได้

สรรพคุณของ บานบุรีเหลือง : ใบ ใช้เป็นยาถ่าย แก้จุกเสียด ทำให้อาเจียน เปลือกต้นและยางขาว ใช้ปริมาณน้อยเป็นยาถ่าย ขับน้ำดี ใช้ปริมาณมากเป็นพิษต่อหัวใจ ทำให้ท้องเสีย

ตองแตก

ตองแตกชื่อวิทยาศาสตร์ : Baliospermum montanum (Willd.) Muell. Arg.
ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น : ตองแต่, ถ่อนดี, ทนดี, นองป้อม, ลอมปอม

รูปลักษณะ : ตองแตก เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูง 1-2 เมตร ยอดอ่อนมีขน ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบที่บริเวณยอดรูปใบหอกหรือรูปวงรี กว้าง 3-4 ซม. ยาว 6-7 ซม. ใบที่บริเวณโคนต้นมักมีขอบหยักเว้าเป็น 3-5 แฉก รูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 7-8 ซม. ยาว 15-18 ซม. ดอกช่อ แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน หรือบนช่อเดียวกัน ออกที่ซอกใบ ดอกตัวผู้มีจำนวนมาก อยู่ตอนบนของช่อ ไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยงสีเหลืองแกมเขียว 4-5 กลีบ ดอกตัวเมียออกที่โคนช่อ ไม่มีกลีบดอก ผลแห้ง แตกได้ มี 3 พู

สรรพคุณของ ตองแตก : ใบแห้ง ใช้ต้มน้ำดื่มเป็นยาถ่าย เมล็ด เป็นยาถ่ายอย่างแรงราก ต้มน้ำดื่มหรือฝนน้ำกิน เป็นยาถ่ายที่ไม่รุนแรง ถ่ายลมเป็นพิษ (ผื่นคันหรือตุ่มหนองที่ผิวหนัง) ถ่ายพิษพรรดึก (อาการที่เกิดจากท้องผูก ถ่ายเป็นก้อนแข็งคล้ายขี้แพะ) ถ่ายเสมหะเป็นพิษ (เช่น เสมหะเขียว)

ขี้เหล็ก

ขี้เหล็กชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassod Tree, Thai Copper Pod, Senna Siamea (Lamk.) H.S.Irwin et R.C.Bameby (Cassia siamea Lamk.)
ชื่อวงศ์ : FABACEAE
ชื่ออื่น : ขี้เหล็กแก่น, ขี้เหล็กบ้าน, ขี้เหล็กหลวง, ขี้เหล็กใหญ่

รูปลักษณะ : ขี้เหล็ก เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 1.5 ซม. ยาว 4 ซม. ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลแกมเขียว ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลือง ผลเป็นฝัก แบบยาวและหนา

สรรพคุณของ ขี้เหล็ก : ใบอ่อน, ดอกตูมและแก่น มีสารกลุ่มแอนทราควิโนนหลายชนิด จึงมีฤทธิ์เป็นยาระบาย ใช้ใบอ่อนครั้งละ 2-3 กำมือ ต้มกับน้ำ 1-1.5 ถ้วย เติมเกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว นอกจากนี้ยังพบสารซึ่งมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง ทำให้นอนหลับ โดยใช้วิธีนำมาดองเหล้า ดื่มก่อนนอน