วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

หญ้าหนวดแมว

หญ้าหนวดแมวชื่อวิทยาศาสตร์ : Cat's Whisker, Orthosiphon aristatus Miq.
ชื่อวงศ์ : LAMIACEAE
ชื่ออื่น : พยับเมฆ

รูปลักษณะ : หญ้าหนวดแมว เป็นไม้พุ่ม สูง 0.5-1 เมตร กิ่งและก้านสี่เหลี่ยมสีม่วงแดง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่แกมสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด กว้าง 2-4 ซม. ยาว 4-7 ซม. ขอบใบหยักฟันเลื่อย ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง มี 2 พันธุ์ คือพันธุ์ดอกสีขาว และพันธุ์ดอกสีม่วงน้ำเงิน เกสรตัวผู้ยื่นพ้นกลีบดอกออกมายาวมาก ผล แห้ง ไม่แตก รูปรี ขนาดเล็ก

สรรพคุณของ หญ้าหนวดแมว : ต้น ใช้ทั้งต้นเป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรคปวดตามสันหลังและบั้นเอว ใบ เป็นยารักษาโรคเบาหวาน และลดความดันโลหิต มีการทดลองใช้ใบแห้ง เป็นยาขับปัสสาวะ ขับกรดยูริคซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเกาต์ และรักษาโรคนิ่วในไต กับผู้ป่วยที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยใช้ใบแห้งประมาณ 4 กรัม ชงกับน้ำเดือด 750 ซีซี ดื่มต่างน้ำตลอดวัน ได้ผลเป็นที่พอใจของแพทย์ พบว่าในใบมีเกลือโปแตสเซียมสูง ผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ควรใช้

สายน้ำผึ้ง

สายน้ำผึ้งชื่อวิทยาศาสตร์ : Japanese Honey-suckle, Lonicera japonica Thunb.
ชื่อวงศ์ : CAPRIFOLIACEAE

รูปลักษณะ : สายน้ำผึ้ง เป็นไม้เถาเลื้อยพัน ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามรูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปใบหอก กว้าง 1.5-3 ซม. ยาว 3-6 ซม. ดอกช่อออกเป็นกระจุก ที่ซอกใบและปลายกิ่ง กลีบดอก สีครีมแล้ว เปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้ม ผลเป็นผลสด รูปกลม เมื่อสุกมีสีดำ

สรรพคุณของ สายน้ำผึ้ง : ต้น ใช้ทั้งต้นแก้บิด ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด ลำไส้อักเสบ โรคกระเพาะอาหาร ขับปัสสาวะรักษาฝี แผลเปื่อย มีการทดลองกับผู้ป่วย พบว่ามีฤทธิ์แก้ท้องเสีย

สับปะรด

สับปะรดชื่อวิทยาศาสตร์ : Pineapple, Ananas comosus (Linn.) Merr.
ชื่อวงศ์ : BROMELIACEAE
ชื่ออื่น : ขนุนทอง, ยานัด, ย่านนัด, บ่อนัด, มะขะมัด, มะนัด, ลิงทอง, หมากเก็ง

รูปลักษณะ : สับปะรด เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง 90-100 ซม. มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ใบเดี่ยวเรียงสลับ ซ้อนกันถี่มากรอบต้น กว้าง 6.5 ซม. ยาวได้ถึง 1 เมตร ไม่มีก้านใบ ดอกช่อ ออกจากกลางต้น มีดอกย่อยจำนวนมาก ผล เป็นผลรวม รูปทรงกระบอก มีใบเป็นกระจุกที่ปลายผล

สรรพคุณของ สับปะรด : เหง้า เป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว เนื้อผล เป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ ลำต้นและผล มีเอนไซม์ย่อยโปรตีนชื่อ bromelain ซึ่งใช้เป็นยาลดการอักเสบ และบวมจากการถูกกระแทกบาดแผล หรือการผ่าตัดได้

หนวดงิ้ว

ขลู่ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pluchea indica (Linn.) Less.
ชื่อวงศ์ : ASTERACEAE
ชื่ออื่น : ขลู่, หนวดงั่ว, หนวดงิ้ว, หนาดงัว, หนาดวัว

รูปลักษณะ : ขลู่ เป็นไม้พุ่ม สูง 1-2.5 เมตร ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กลับ กว้าง 1-5 ซม. ยาว 2.5-10 ซม. ขอบใบหยักซี่ฟันห่างๆ ดอกช่อ ออกที่ยอดและซอกใบ กลีบดอกสีม่วง ผลแห้ง ไม่แตก

สรรพคุณของ ขลู่ : ต้น ใช้ทั้งต้นต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะ แก้เบาหวาน การทดลองในสัตว์และคนปกติ พบว่ายาขับปัสสาวะแผนปัจจุบัน (Hydrochlorothiazide) และมีข้อดีคือ สูญเสียเกลือแร่น้อยกว่า นอกจากนี้ยังใช้ต้มน้ำอาบแก้ผื่นคัน ใบ น้ำคั้นใบสดรักษาริดสีดวงทวารด้วย